top of page
Writer's pictureLadda Kongdach

พื้นที่กับการพัฒนาของละครเวทีอย่างยั่งยืน

เทศกาลลักษณะ Fringe ได้มอบมิติของคำว่าพื้นที่ในรูปแบบใหม่ เพื่อบอกล่าวว่าละครเวทีนั้นมีอยู่ได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงละครเพียงอย่างเดียว เทศกาลละครกรุงเทพเมื่อครั้งอยู่ที่ท่าพระอาทิตย์ บางลำพูก็ริเริ่มด้วยแนวคิดในลักษณะเดียวกัน



ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกผลงานเหมาะกับทุกสถานที่ ผู้เขียนเชื่อว่าหากละครได้ถูกจัดแสดงอย่างถูกที่ถูกทาง ละครเรื่องนั้นก็จะมอบศักยภาพสูงสุดของมันให้แก่ผู้เสพ ละครบางเรื่องอาจต้องการห้องมืด บ้างต้องการโปร่ง บ้างต้องการพื้นไม้ บ้างต้องการ semi-closure บ้างต้องการoutdoor ฯลฯ พื้นที่จึงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแยกออกจากกันไม่ได้กับการพัฒนาของละครเวที


ในความสงสัยของผู้เขียนคือ พื้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาละครไทยหรือไม่? เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ผู้เขียนได้ลองสืบค้นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ศิลปิน และการผลิตละครเวทีที่ผ่านมาพบว่าความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระจายตัวและการรับรู้ด้านละครเวที


หลังจากยุคของมณเฑียรทองเธียเตอร์ที่เป็นโรงละครแบบ lounge bar จนเกิดเป็นกระแสและเป็น community ใหม่สำหรับผู้รักละครเวที คงต้องกล่าวถึงศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณและโรงละครกรุงเทพ ทั้ง 2 สถานที่ได้ใช้รูปแบบมอบพื้นที่และทุนให้แก่ศิลปินได้สร้างละครเวทีนอกกระแส ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ โดยมากละครลักษณะนี้ไม่ได้ต้องการโรงละครขนาดใหญ่ เพราะตัวงานต้องการความใกล้ชิดผู้ชมต่อรอบไม่เกิน 20-100 ที่นั่ง ต้องการ space ที่ปรับเปลี่ยนได้ โรงละครขนาดเล็กยังใช้ทุนไม่สูงจนเกินกำลังอีกด้วย การให้ทั้งพื้นที่และทุนแก่ศิลปินถือเป็นการลงทุนที่เอื้อเฟื้อ โมเดลนี้จึงไม่สามารถจัดสรรให้เป็นไปได้นานเพราะต้องใช้ทุนจำนวนมาก กลุ่มละครที่มีความแข็งแรงต่างต้องการความมั่นคงในการสร้างงาน เมื่อปัจจัยด้านพื้นที่เป็นปัจจัยหลัก กลุ่มจึงลงทุนหาพื้นที่ที่เป็นของตนเ กลุ่มละครมายาจึงริเริ่มลงทุนสร้างโรงละครขนาดเล็กเรียกว่า มายาบ๊อกซ์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโรงละครโรงเล็กของญี่ปุ่น กล่าวคือ การดัดแปลงพื้นที่บ้าน, ห้องแถว หรือห้องใดห้องหนึ่งในอาคารในกลายเป็นโรงละครขนาด 20 ที่นั่งขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมี โรงละครมรดกใหม่ที่ตึกช้างและ RCA, ช้าง เธียเตอร์ที่ตึกช้างก่อนย้ายไปประชาอุทิศ ฯลฯ การมีพื้นที่ส่วนตัวทำให้ศิลปินสร้างและพัฒนางานของกลุ่มให้ต่อเนื่องนอกจากนี้ กลุ่มละครยังสามารถใช้พื้นที่นี้เป็นออฟฟิศ เป็นจุดรวมตัว จุดนัดพบ เป็น lab ให้ลองผิดลองถูกหรือฝึกฝนศิลปินใหม่ และเป็นcommunity ของกลุ่ม และคนรักละครเวที ผลพวงของเทศกาลละครกรุงเทพซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 คือ ทำให้กลุ่มละครนอกกระแสเริ่มก่อตัวกันแน่นแฟ้น ทำละครเวทีกันเป็นอาชีพมากขึ้น และมีโรงละครในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น 8X8 คอร์เนอร์ที่สามย่าน, พระจันทร์เสี้ยวและB-Floor ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ และโรงละครมะขามป้อมที่สะพานควาย ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วโรงละครจะผูกอยู่กับกลุ่มละครนั้นๆ แต่กลุ่มอื่นก็สามารถเข้าใช้ได้ในลักษณะเช่า

ไร้พำนัก by 8x8 Theatre @ 8x8 Corner




นางนากเดอะมิวเซียม by New Theatre Society @ MKP Studio



24 Festival by Crestent Moon Theatre @ Cresent Moon Space


A Nowhere Place by Anatta Theatre @ B-Floor Room


นิกร แซ่ตั้งกลุ่มละคร 8x8 กล่าวว่า


“ space เป็นความมั่นคงในการสร้างงานของศิลปิน เป็นความมั่นคงทางจิตวิญญาณ ไม่ต้องมาคอยคิดว่าจะทำสิ่งนี้ที่ไหน พร้อมทำงานได้ทันทีในยุค “โรงละครห้องแถว” นี้ทำให้ละครเวทีเป็นไปอย่างคึกคัก มีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ”

อีกรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่ ได้มีการเกิดขึ้นของ space โดยที่ไม่ผูกติดกับกลุ่มละคร กล่าวคือ เป็น space ให้เช่าเต็มตัว เช่นDemocrazy Theatre Studio, Creative Industry, Syrup Theatre, Bluebox Studio ฯลฯ โดยสถานที่อาจให้เช่าอย่างเดียวหรือเป็นผู้ผลิตงานด้วยเช่นกัน จึงเกิดเป็นมิติใหม่ว่ากลุ่มละครที่ไม่มีพื้นที่ของตนเองก็สามารถมีสถานที่ที่เข้าใจและเหมาะสมกับการทำงานละครเวที ทำให้เมื่อศิลปินจะสร้างงานก็จะนึกถึงสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่แรกๆ เกิดเป็น community ในอีกช่องทางหนึ่ง



Girl X by Democrazy Theatre @ Democracy Theatre Studio

Woyzeck by Cresent Moon Theatre @ Creative Industries


Rx3 by Life Theatre @ BlueBox Studio


อย่างไรก็ตาม การเช่า space อาจจะไม่ใช่โมเดลที่ดีต่อใจกับกลุ่มละครหน้าใหม่เท่าไหร่นัก เพราะไหนจะต้องสู้รบกับคุณภาพของชิ้นงาน, การสร้างฐานผู้ชม และความไม่แน่นอนของรายได้ ฯลฯ ภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าจึงเป็นภาระก้อนใหญ่เกินตัว กลุ่มละคร Qrious Theatre กล่าวว่า

“ งบค่าสถานที่ทั้งซ้อมและแสดงเป็นงบกว่า 50% ของงบประมาณทั้งหมดหากเราไม่ได้รับการสนับสนุน โปรเจ็คละครเรื่องนั้นก็จะได้กำไรยากดังนั้น นโยบายของกลุ่มจึงมุ่งตามหา partner ที่สนับสนุนสถานที่ซ้อมการแสดงและจัดแสดง หากหาได้ ไม่ว่าจะฟรีทั้งหมดหรือในราคาถูก ก็จะช่วยลดงบประมาณก้อนนี้ลงไปได้มาก ในทางตรงกันข้าม สตูดิโอเองก็ต้องต่อสู้กับค่าเช่าและบริหารให้สตูดิโออยู่ได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน ”



เมื่อไม่นานมานี้ เราคงได้ยินข่าวการปิดตัวลงของ studio และโรงละครขนาดเล็กหลายแห่งในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะด้วยปัญหาด้านการเงินหรือการเปลี่ยนนโยบายของผู้เช่า แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของกลุ่มศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ทั้งในแง่การดำเนินงานของกลุ่มเอง หรือพื้นที่ที่เป็นเสมือน community ของคนรักละครเวทีที่ลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศิลปินหยุดตัวเองจากการสร้างสรรค์ผลงาน

ผู้เขียนลองถามศิลปินจำนวนหนึ่งว่าระหว่างพื้นที่จัดแสดงกับพื้นที่สำหรับพัฒนาผลงาน พื้นที่ไหนที่พวกเขาต้องการมากกว่ากัน ทุกท่านต่างตอบว่า แน่นอนว่าต้องเป็นพื้นที่ที่ใช้พัฒนาผลงาน เพราะเราไม่รู้เลยว่าผลงานแต่ละเรื่องต้องการเวลามากน้อยขนาดไหนและศิลปินต้องการพื้นที่ที่จะลองผิดลองถูกก่อนงานจะจัดแสดงได้

ปัจจุบัน กลุ่มละครต้องบริหารจัดการงบประมาณตามความเป็นจริง กล่าวคือ มีกำลังจ่ายค่าห้องซ้อมเท่าไหร่ก็จัดตารางซ้อมตามนั้น ซึ่งย่อมส่งผลทางอ้อม กล่าวคือ ตัวผลงานไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างที่มันควรจะเป็น หากใช้งบประมาณจำนวนมากก็จะส่งผลมาที่การจัดเก็บราคาบัตรที่แพงขึ้นซึ่งก็ไม่สอดคล้องกับกำลังจ่ายของผู้ชม ธีระวัฒน์ มุลวิไล กลุ่มละคร B-Floor ให้สัมภาษณ์กับรายการ Bangkok Offstage ว่า

" พื้นที่สำหรับซ้อมหรือสร้างงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่รัฐสามารถมอบให้แก่ศิลปินได้ มันควรจะ public access นี่คือการ support ในเชิงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว"

ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ เสริมในประเด็นนี้ว่า

" บางครั้งพื้นที่สาธารณะหรือส่วนกลางที่อนุญาตก็ไม่รองรับความต้องการของศิลปิน ด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของวงการ เช่น ห้ามใช้เกิน 21.00 น. ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่มักซ้อมละครได้ตอนกลางคืนเพราะกลางวันต่างทำงานประจำ หรือห้ามเสียงดังเพราะห้องที่ใช้ได้ไม่เก็บเสียง ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะการซ้อมละครต้องใช้เสียงบ้าง อาจต้องทดลองกับเสียงดนตรีเสียด้วยซ้ำ เป็นต้น ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นแบบนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ แต่ผมไม่เคยมองแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผมใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่และมี Passion กับมันเสมอคือการกำกับและแสดงละครเวที สำหรับผมอาชีพคือสิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากกว่าและเห็นภาพตัวเองชัดเจนว่าจะทำมันไปตลอดชีวิต การมี Second Job ไม่ทำให้เวลาการทำละครเวทีของผมลดลงเลยเพราะผมไม่ยอม เลยดันไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนและเวลาที่อยู่กับครอบครัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องแลก " แล้วโมเดลในลักษณะใดตอบโจทย์กับการทำงานแบบละครเวทีมากที่สุด ประดิษฐให้ความเห็นว่า " เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน สถานที่ควรมีความยืดหยุ่นด้านเวลา ด้านการรองรับการทดลองงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ตกลงกันระหว่างเจ้าของพื้นที่และศิลปิน ให้อิสระในการสร้างผลงาน และสุดท้ายคือด้านงบประมาณที่เป็นไปได้จริงกับกลุ่มละครขนาดเล็ก "


Bangkok Theatre Festival 2018 @ BACC

BACC เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้าใจการทำงานของศิลปินด้านละครเวที ได้มอบพื้นที่การซ้อมและจัดแสดงให้แก่ศิลปินละครเวที รวมถึงจัดเทศกาลอย่างเทศกาลละครกรุงเทพ หรือเทศกาลอันเกี่ยวกับศิลปะการแสดงอีกหลายเทศกาล โมเดล partner ในลักษณะนี้ถือเป็นโมเดลที่ส่งเสริมศิลปินให้ทำงานอย่างยั่งยืนได้


เฉพาะการสำรวจด้านพื้นที่เพียงอย่างเดียวก็พบว่าการเติบโตและพัฒนางานนั้นเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน ในช่วงเวลาที่ศิลปินมีพื้นที่ของตนเองนอกจากจำนวนผลงานที่เป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังมีการจัด workshop อีกมากมาย รวมถึงเป็นความมั่นคงทางจิตใจของศิลปินด้วย

พื้นที่คงไม่ใช่ปัจจัยเดียว ศิลปะจะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนจำต้องพึ่งพาการอุ้มชูกันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข่าวสาร สื่อกระแสหลักด้านศิลปวัฒนธรรม การศึกษาศิลปะ นโยบายที่สนับสนุนคนทำงาน สร้างบุคลากรด้านการบริหารจัดการ ที่จะส่งเสริมให้ศิลปะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าในระบบนิเวศของศิลปะนั้นมีมากกว่าศิลปิน ฉะนั้นคงไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือการพึ่งพารัฐทางเดียวไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือในระดับบุคคลก็ร่วมผลักดันได้ในแบบของตัวเอง



ข้อมูล

รายการ Bangkok Offstage (podcast) ประดิษฐ ประสาททอง (สัมภาษณ์) นิกร แซ่ตั้ง (สัมภาษณ์) กลุ่มละคร Qrious Theatre (สัมภาษณ์)





ผู้เขียน : เพียงดาว จริยะพันธุ์ เริ่มเข้ามาในวงการละครเวทีตั้งแต่มัธยมปลาย แสดงละครเวทีนอกโรงเรียนครั้งแรกที่เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 3 ด้วยความชอบและหลงใหลจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังและเป็นหนึ่งในคณะทำงานของมูลนิธิละครไทย







513 views0 comments

Comments


bottom of page