By Anatta Theatre Reviewed by : Yokee Apirak Lighting : Kemmachat Takky Sermsuk Photo : Damkerng Thitapiyasak , Janya Thanasawangkul
ละครชาตรีหรือละครโนราชาตรีเป็นละครรำแบบดั้งเดิมของไทยที่เก่าแก่มากๆ ว่ากันว่ามีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และอาจเป็นต้นกำเนิดของละครรำที่แบ่งเป็นละครนอก ละครในที่เราพอรู้ๆ กัน แล้วสืบทอดมาจนถึงยุคละครรำแบบปรับปรุงใหม่ในรัชกาลที่ 5 มาสู่การเป็นละครร้องและละครพูดที่พีคสุด ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนขาดตอนไปเพราะสงครามโลก แล้วไทยค่อยมาเริ่มมาเรียนละครแบบฝรั่งในราวปี 2510 (และหลังจากนั้นเด็กมหาวิทยาลัยก็ถูกแยกขาดระหว่างละครฝรั่งกับละครรากไทยมาแต่นั้น)
ความน่าสนใจก็คือละครชาตรีมีลักษณะเป็นละครเร่ ใช้ตัวละครน้อย โดยปกติมักมีตัวละครสำคัญ 3 ตัวละคร เช่น ถ้าเล่นเรื่อง มโนราห์ ก็จะมีตัวละครเด่นๆ คือ พระสุธน นางมโนราห์ และพรานบุญ เป็นต้น มักใช้ผู้ชายเล่นเพราะเมื่อก่อนเรายังไม่มีขนบเล่นละครแบบชายจริงหญิงแท้ เพราะผู้หญิงจะมาโดนผู้ชายถูกเนื้อต้องตัวนั้นไม่งาม (กว่าเราจะเริ่มยอมให้มีการเล่นแบบชายจริงหญิงแท้ก็ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 4 นี่เอง)
ความเด็ดของละครประเภทนี้คือ “สาร” ที่ต้องการจะพูดที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้เรื่องเล่าที่เราก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว ภายใต้รสทางอารมณ์ที่เน้นความตลกสนุกสนานหรรษา อย่างที่แขกสันสกฤตเรียกว่า หาสยรส ปกติเรื่องเล่ามักเป็นของเจ้าเพราะเมื่อก่อนละครหลวงเป็นของหลวง แต่ละครชาตรีเป็นละครชาวบ้าน “เป็นของชาวบ้าน โดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน” ดังนั้นเรื่องที่ชาวบ้านๆ จะขันกันก็มักจะหยิบจับเรื่องที่ชีวิตจริงพูดกันไม่ได้ แตะไม่ได้ แต่มาเล่าได้ในละครชาตรีที่ฉาบไว้ด้วยความตลก ที่ทำตัวเหมือนไร้แก่นสาร ผูกเรื่องง่ายๆ ตรรกะง่ายๆ ละครตบตี แบ่งผัวแย่งเมีย (ถ้าถอดรหัสได้ก็จะรู้ว่าภายนอกนั้นเป็นตัวล่อเพื่อที่จะพูดจริงๆ ในบางสิ่งข้างในที่แซ่บไปถึงทรวงเลยทีเดียว)
เกริ่นมานานแค่ต้องการจะพูดว่า ดีใจมากที่ทุกวันนี้เรายังเห็นละครชาตรีสร้างใหม่อยู่ในเทศกาลละครกรุงเทพ ในหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่มองไปมีแต่งานฝรั่งและชาวต่างประเทศ ขอบคุณพี่ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง คณะละครอนัตตาและชาวคณะที่เกิดจากการรวมตัวกันเฉพาะกิจมาสร้างละครชาวตรีเรื่องนาง มโนรีย์ ตอน นางวาโยขึ้นหึง ในครั้งนี้
ใครจะยังทำละครชาตรีที่รู้ขนบการเล่าเรื่องมากพอที่จะ “แหก” มันแล้วเล่าใหม่ได้แบบนี้อีกบ้าง เอาจริงๆ เด็กเรียนละครฝรั่งหลายคนอาจเข้าใจว่านี่เล่นตามแบบเดิมๆ โบราณๆที่เคยมีมาแน่ๆ หารู้ไม่ว่า พี่ตั้วเนี้ยโคตรจะ “รื้อสร้าง” deconstruction มานักต่อนักแล้ว
ในคราวนี้รื้อกันมาตั้งแต่ชื่อเรื่อง การสร้างตัวละคร ยืมโครงมโนราห์มา แต่กลับไปใช้ชื่อว่านาง มโนรีย์ (ล้อกับการแสดงมูฟเมนท์เลื่องชื่อของบีฟลอร์- มโนแลนด์ เข้าไปอีก มองอย่างทฤษฎีฝรั่งก็ว่าเป็นสัมพันธบท intertextuality ที่ศิลปินจงใจเล่น) ในละครเรื่องนี้เก๋เข้าไปอีกตรงเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า...เพื่อสืบหาว่า “ความจริง” คืออะไร
ในโลกที่เราอยู่เราเสพอะไร เราปล่อยให้อารมณ์นำจนไปสู่การสร้างสงครามมากี่ครั้งแล้ว โดยที่เราไม่ได้ฟังว่าความจริงคืออะไรหรือมองว่าฝั่งตรงข้ามทำและคิดเช่นเดียวกับเรื่องเล่าที่เราได้ยินมาจริงไหม (กราบเถอะ พี่ตั้ว เอาทองไปปิดตัวนางด้วยก็ได้ เก่งเหลือเกิน)
ละครตลกมากดูง่าย ดูไปก็แสบๆ คันๆ นักแสดงก็เล่นกันถึงพริกถึงขิง เพลงก็เพราะ แถมยังมีการโชว์กระบวนรำ กระบวนร้อง งดงามครบครัน แต่กระนั้นก็ยังมีความมันส์แบบร่วมสมัยให้คอละครฝรั่งที่สนุกกับการตีความไปค้นหาด้วย
ทำต่อมาให้ดูบ่อยๆ นะครับ และคิดว่าไม่ใช่แค่ละครฝรั่งที่ควรมี post show talk แต่ะละครไทยๆ แต่ร่วมสมัยแบบนี้ก็ควรคุยด้วยเพื่อประโยชน์แก่ผู้ชมและคนทำงาน “ร่วมสมัย” เช่นกัน
เสาร์ 17 พฤศจิกายน 2561 รอบ 19:00 น. และ
อาทิตย์ 18 พฤศจิกายน 2561 รอบ 16:00 น.
ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) Studio ชั้น 4
การแสดงมีความยาว 50 นาที
บัตรราคา 500 บาท จองบัตร คลิกที่นี่