cr:wichaya
ละครเวที "ไม่มีอะไรจะพูด" ของกลุ่ม ForWhat Theatre
รีวิวโดย อภิรักษ์ ชัยปัญหา
ภาพถ่ายโดย วิชย อาทมาท
การยำใหญ่ใส่สารพัด การเอาเรื่องเล่าต่างๆมา โฮะกัน มีทั้งจากเรื่องเก่า และแต่งใหม่เข้าไป เคยมีกวีสตรีท่านหนึ่งทำไว้ เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ คือ คุณสุวรรณ กวีสตรีแห่งราชินุกูล ณ บางช้าง... เรื่องที่ว่าคือ #อุณรุทร้อยเรื่อง โดยนำตัวละครจากวรรณคดีต่างๆ มายำใหม่ จาก 144 ตัว จากวรณคดีเรื่องต่างๆ ประมาณ 51 เรื่อง...ผลคือ อะไรไม่รู้ แต่สนุกสุดและเป็นที่จดจำมากว่า 200 ปี พร้อมกับมีบางคนเรียกผู้แต่งว่า กวีบ้า.... ปรากฏการณ์นั้นเราไม่รู้ว่ากวีคิดอะไรจึง รื้อสร้างหนักมากเบอร์นั้น อาจจะแค่มันทางอารมณ์ แล้วสร้างงานแบบ "ศิลปะเพื่อศิลปะ" ถ่ายเดียว หรือ คุณสุวรรณ อาจจะเป็น ดาริดา หรือ บาธ หรือ คริสติวา มาเกิดก็ได้ งานชิ้นนั้นจึง รื้อสร้าง โพสต์ๆๆๆๆๆๆ ได้ปานนั้น ทรงพลังมาถึงทุกวันนี้
cr:wichaya
เมื่อความรู้ทางวิชาการ การวิจารณ์ไหลบ่ามาในไทย เทรนด์การวิจารณ์ในช่วง 10 กว่าปี มานี้ แวดวงทั้งนักวิชาการ นักวิจารณ์ และศิลปิน ต่างได้ตำราครูฝรั่งมาชุดไล่ๆ กัน หรือบางทีเรารู้สึกว่าศิลปินนำอยู่ไกลๆ ด้วยซ้ำ การสร้างงานแบบต่อต้านขนบ เพื่อวิพากษ์ ตั้งคำถาม โดยมากมักเป็นแนวคิด ความเชื่อ เรื่องเล่าแนวเดิม ก็ได้รับความนิยมในการเสพและการสร้าง ตลอดจนการวิจารณ์ และกลายเป็นเทรนด์ของยุคสมัยไปพร้อมๆ กับประสิทธิภาพในการสื่อสารกับสังคมของงานประเภทนี้
cr:wichaya
ปี 2560 #ไม่มีอะไรจะพูด การแสดงร่วมสมัย ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันกับคุณสุวรรณ คือเอาเรื่องต่างๆ มายำใหม่ เล่าทั้งตัวบทที่คล้ายไม่มีอะไรต่อเนื่องกัน และใช้ทั้งเทคเนิคละคร ในด้าน พื้นที่ แสง สี เสียง การออกแบบฉาก และเสื้อผ้า ใหม่ ในแบบที่ ผิดฝาผิดตัว กลับทิศกลับทาง ผู้ชมจะถูดลดอภิสิทธิ์ในการรู้เรื่องมากกว่าตัวละคร แล้วตัดสินว่าใครผิดใครถูกแบบเรื่องเล่าขนบเก่า มาสู่ การถูกทำให้อยู่ภายในเรื่องเล่านั้น เช่นเดียวกับตัวละคร แต่...ในการเล่าเรื่องนี้ ตัวละครกลับรู้เรื่องที่เขาพูดมากกว่าผู้ชม... ผู้ชมโดนริดรอนอำนาจในการรับรู้เรื่องเล่าไปเสียแล้ว... เพราะได้ข้อมูลที่ได้มาแบบ ได้อะไรว่ะ ได้เท่ากันไหมอ่ะแก..หรือ พูดไรของแกว่ะ ไม่ใช่แค่ผู้ชมนะ คนเขียนบทก็โดนด้วย
cr:wichaya
เบสท์เชิญนักเขียนมาเขียนเรื่องหลายๆ ท่าน (ฉีกขนบอภิสิทธิ์ของผู้เขียนบท) ได้มาบทสั้นๆ 10 บท ตามโจทย์ที่ให้ คือเขียนจากศัพท์ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์บ้าง เหตุการณ์บ้านเมืองบ้าง หน้านักแสดงบ้าง แล้วก็มายำใหม่ GMO สลับใหม่เรียบเรียงใหม่อีกครั้ง อย่าหวังนะว่าคนเขียนบทจะกำหนดอะไรได้ หึหึ ถึงตรงนี้ เลยแอบหมั้นไส้ ก็คนที่มีสิทธิ์อยู่คนเดียวคือ อีตาผู้กำกับ นั่นแหละ แต่รวมๆ ทุกเรื่องที่ซ้อนๆ กัน มันพูดถึง myth หรือตำนาน เรื่องเล่าเก่าที่ถูกเล่าใหม่ แต่มีรากตำนานเดิม บางเรื่องมีกลิ่นเสียดสีแบบกะให้ขำ (ตำนานพระรถเมรี) บางเรื่องเสียดสีเหมือนกันแต่กะวิพากษ์เบื้องหลังความคิดของตำนานนั้น (มโนทัศน์เรื่องโลกและจักรวาลของคนไทยกับ เขาไกรลาสและป่าหิมพานต์) หรือ แม้แต่ตัวทฤษฎีต่างๆ ก็ทำให้มีค่าเพียงแค่ ตำนานๆ หนึ่ง เช่นกัน ตัวละคร เมรี และการเรียนการสอนและการตามหา หอยสุมอย ดูจะเป็นเรื่องหลักที่เกาะเกี่ยว เรื่องไว้ได้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้า เมรี เครียดเพราะแม่บอกให้ฆ่าพระรถเสน แต่นางกลับหลงรักเขา จะเกิดอะไรขึ้นที่นางต้องนอนกับคนรักทุกคืนโดยวาดระแวงว่า เขาจะลุกขึ้นมาฆ่าตนแก้แค้นแทน ป้าๆและแม่ของเขาไหม... นางไปพบจิตแพทย์ที่ดูเข้าข้าง พระรณเสนหรือเหมือนไม่พยายามแก้ปัญหาแต่บอกให้นางทำใจ ลืมๆไปซะ จนนางถามกลับว่า นี่หมอซื้อปริญญามาหรือเปล่า จนตอนท้าย เหมือนๆ ว่านางจะจัดการฆ่าพระรถเสนแล้ว โทรไปเลิกนัดหมอว่า ฉันหายแล้ว ไม่ต้องพบหมอแล้ว ถึงตรงนี้ เราก็อาจจะเชื่อมโยงปะติดปะต่อกับบทสัมภาษณ์ของเธอในตอนต้นเรื่อง ที่ว่าไส้ในเกี้ยวในร้านของเธอ...คือ (ในเรื่องพยายามให้คนคิดว่าเป็นเนื้อของพระรณเสนใช่ไหม) แต่เธอโวยวายและตัดเข้าโฆษณาไป... จนมาถึงที่เธอ คิดมากไปทะเลาะกับแขกในร้านที่เถียงและฟ้องร้องกัน เพราะการ "ตีความ" ไปเองของแต่ละฝ่าย จากการมองกันห่างๆ ได้ยินกันไม่ชัด หรือเลือกจะมองในแบบของตนเอง (ในเรื่องแมรีจะงงว่า มีแขกมาร้านกี่คนกันแน่ 1 คน สองคน หรือมากกว่านั้น) ระหว่างเล่าเรื่องของเมรี และเหล่าครู-นักเรียน นักวิชาการว่าด้วยเรื่อง หอยสุมอย ก็จะสลับด้วยฉากหลังเสร็จกามกิจเซ็กส์หมู่ของเหล่าเกย์ ทั้งที่เป็นไบ เกย์โบท ที่มาจากสถานภาพทางสังคมต่างๆ ตำรวจ เด็กขาย คนชนชั้นกลาง นักคิด...
cr:wichaya
ฉากจะถูกซอยเป็นฉากสั้นๆ ค่อยๆ แทรกเข้ามาคั่น เป็นระยะๆ เลือกเล่นพื้นที่ตรงกลางระหว่างห้อง...แซ่บมาก ทั้งการถ่ายคลิปและการชอบดูการร่วมรัก มากกว่าการลงไปทำเอง การงงกับบทบาทและเลื่อนไหล การพูดความต้องการตรงๆ กับการไม่ยอมบอกว่าชอบ... นอกห้องเขาอาจจะแสดงบทบาททางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นตำรวจ เป็นพ่อของลูก เป็นเด็กขาย เป็นนักคิด แต่ในโมงยามที่เพิ่งผ่านมา พวกเขาก็เป็นแค่คนที่ต้องการสนุกกับเซ็กส์ที่หลุดไปจากกรอบเกณฑ์เดิมๆ เท่านั้น..
cr:wichaya
ตัดมาจบที่เส้นเรื่องนักวิชาการผู้ซึ่งควรเป็นที่พึ่งแก่สังคมต่าง สับสน งงงวยกับความคิดและความเชื่อของตนเอง กลับไปกลับมา ทะเลาะกันเอง แล้วก็แบ่งแยก เป็นสามสาย แล้วให้ผู้ชมเลือกว่าจะเชื่ออะไร คือจริงๆ ผู้ชมบางคนก็จริงจัง เลือกเอาจริงๆ แต่หลายๆคนจะรู้ว่า มันไม่จริงหรอก แต่ก็เล่นตามเกม ต่อไป....
cr:wichaya
เรื่องเล่า งานวิชาการ ความเชื่อ เซ็กส์แบบลับๆ ถูกรื้อ ราวกับพวกเขา(นักวิชาการ) สื่อ (ในเรื่องเล่นกับการเล่าเรื่องผ่านสื่อต่างๆ) ผู้ชม (สมาชิกในสังคม) ที่ยืนอยู่บนพรม แล้วมีคนกระชากแรงๆ จน ทุกคนล้มระเนระนาด แล้วพยายามจับต้นชนปลาย....ว่าจะเอาไง จะไปไหนดี แต่ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็น ครู หมอ นักวิชาการ ก็จะใช้อำนาจในชั้นเรียน กดทับ ควบคุม การรับรู้และการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ เรื่องเล่านั้นไว้ ทั้งๆที่พวกเขาก็ไม่รู้ หรือหวาดกลัวที่จะถูกรู้ว่าเขาไม่รู้ว่า..ความจริงคืออะไร จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสมาชิกของสังคมไม่ได้ติดอาวุธทางปัญญานี้ไว้ แล้วต้องออกไปเผชิญโลกที่ปะปน แอ็บเสิร์ด อย่างที่เป็นอยู่ เบสท์ในฐานะนักสังเกตการณ์และนักเล่าเรื่อง และมักชอบตลบหลังการเล่าเรื่องแนวเดิม...ทำสำเร็จอีกครั้งในการวิพากษ์สังคมผ่านงานของเขา
cr:wichaya
แม้ว่าจุดแข็งในการ เลือก "เรื่อง" ที่จะพูด และเลือก "ฟอร์ม" ที่นำมาวิจารณ์ จะเป็นจุดแข็งที่เราต่างยอมรับกัน แต่จุดที่เด่นชัดกว่างานชิ้นก่อนๆ ของเขาคือ การกำกับการแสดง ที่ไม่ใช่การกำกับ บีท/หรือยูนิตจากตัวบทในเรื่องเล่าอีกแบบ แต่เป็นการทำให้นักแสดงเข้าใจกติกาของเรื่อง พลังงาน จังหวะ การรับส่ง สไตล์ของเรื่องอย่างที่เขาต้องการได้แบบมั่นใจขึ้น เชี่ยวชาญขึ้นมาก ๆ เอาจริงๆ เรื่องนี้ นอกจากเทคนิคแล้ว สิ่งที่ทำให้อยู่ได้ก็คือนักแสดงจริงๆ ก็นั่นแหละคุณผู้ชม ก็ดูเอาเหอะ เรื่องมันมาเละตุ้มเป๊ะ ขนาดนี้แล้ว ก็ในเมื่อทุกคนเป็นกูรูพูดๆๆๆๆๆๆ กันมาขนาดนี้ละ ก็ไม่มีใครจะฟังใครละ ต่างแบ่งฝ่ายเล่นชักกะเย่อ ตี่จับ ไล่จับ กันขนาดนี้แล้ว ดั้นก็...ไม่มีอะไรจะพูดแล้วล่ะ
.......................................................................
ผลงานกำกับโดย เบส-วิชย อาทมาท (ผู้กำกับ บ้านcult เมืองcult และ เพลงนี้พ่อเคยร้อง) ร่วมกับนักเขียน นักแสดง และทีมงานมากหน้าหลายตา คำ ผกา โตมร ศุขปรีชา วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ประจักษ์ ก้องกีรติ [เขียนบทละคร] อรรถพล อนันตวรสกุล สายฟ้า ตันธนา สุมณฑา สวนผลรัตน์ ณัฐญา นาคะเวช พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ อารยา พิทักษ์ โตมร ศุขปรีชา [แสดง] ทวิทธิ์ เกษประไพ [กำกับเทคนิกพิเศษและไม่พิเศษ] ยิ่งศิวัช ยมลยง [ออกแบบเสียงในห้อง] เชษฐพัทธ์ เขื่อนแก้ว [ออกแบบแสงและเงา] อภิรัตน์ แก้วกัน [จัดสรรเครื่องแต่งกาย] เศรษฐ์สิริ นิรันดร [แลดูการแสดง] รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค [ให้คำปรึกษา] ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ [ช่วยเหลืองานกำกับ] วิชย อาทมาท [ออกแบบและกำกับการแสดง] ภัทรียา พัวพงศกร ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี กวิน พิชิตกุล [ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์] ญาดามิณ แจ่มสุกใส [แลดูการผลิต] เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ [ดูแลการผลิต] วันที่ 8 - 24 มิถุนายน 2560 (ทุกวันยกเว้นอังคาร-พุธ) เวลา 20:00น. ณ ห้องพระจันทร์เสี้ยว และ ห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อ