top of page
Writer's pictureLadda Kongdach

ใช้พื้นที่อย่างไรให้เล่าเรื่อง : แนวคิดการเล่าเรื่องในพื้นที่อันมีจำกัดหรือในพื้นที่ที่ไม่ใช่โรงละคร

หลายท่านอาจได้ยินข่าวละครเวที CHENG-MENG โดย A Theatre Unit: Revival Series ที่จัดแสดงไปเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมากันอยู่บ้าง ละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครพูด แนวดราม่า-คอมเมดี้ครอบครัวจีน ที่ไม่ได้เลือกแสดงในโรงละคร แต่ใช้ “บ้านตึกแถวทรงจีน 3 ชั้น” มาปรับให้เป็นพื้นที่การแสดงและใช้จัดแสดงทั้งตึก ผู้ชมจะได้ดูละครองก์แรกในชั้นล่าง และต้องขึ้นบันไดตามตัวละครเพื่อชมองก์ต่อมา ที่ถูกจัดขึ้นในชั้นที่สองของบ้าน ในบทความนี้ผมได้โอกาสจากพี่ๆในเครือข่ายละครกรุงเทพ ชวนให้มาบอกเล่าถึงที่มา ของแนวคิดการเลือกใช้พื้นที่ของละครเวทีเรื่องนี้ครับ CHENG-MENG มีคอนเซปต์หลักที่ตีมาแต่ต้นคือ “เรื่องลับ ๆ ในบ้าน” เราจึงไม่อยากเล่าละครเรื่องนี้ในโรงละคร (รวมถึง ร้านกาแฟ หรือคาเฟ่ต่างๆ) แต่เราอยากได้บ้าน อยากให้ผู้ชมได้ประสบการณ์ที่เหมือนกับการได้เข้าไปอยู่ในบ้านจริงๆ เป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ที่มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้ โจทย์ในการหาพื้นที่จึงมีเพียงแค่ “ต้องเป็น ‘บ้าน’ ที่ดูจีน และสามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า” ความตั้งใจแรกของพวกเรา คืออยากจะเซ็ตห้องเพียงห้องเดียวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ไม่ได้ตั้งใจจะทำการแสดงทั้งตึกแต่แรกจนกระทั่งได้มาพบกับ CHO WHY CHO WHY เป็น space ที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวมากเป็นบ้านที่ถูกปรับมาเป็น art space มีพื้นที่โล่งโปร่งและตั้งอยู่ในชุมชนจีนซอยนานา วงเวียน 22 ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน มีกลิ่นยาจีนลอยคลุ้งเมื่อเดินมาตลอดทาง ที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่มีชีวิต มีผู้คนที่คาแรคเตอร์เหมือนตัวละครอาศัยอยู่แถวนั้นจริงๆ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาเลือกพื้นที่แสดง เราต้องตัดสินใจระหว่าง ชั้น 1 ที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีแค่พัดลม ได้ยินเสียง ambience ของชุมชนด้านนอก แต่พื้นที่ที่ให้เซนส์ภาพที่แข็งแรงมาก และ ชั้น 2 ที่เป็นพื้นที่ปิด มีเครื่องปรับอากาศ ควบคุมการแสดงและเสียงภายนอกได้ง่าย แต่ให้ภาพที่แข็งแรงน้อยกว่า (ส่วนชั้น 3 เป็นชั้นดาดฟ้า เราตัดทิ้ง เพราะตั้งใจเล่นรอบบ่ายในวันหยุด)

ชอบทั้งสองทางเลือก และอยากดึงเสน่ห์ของพื้นที่ให้ออกมามากที่สุด จึงลองกลับไปพิจารณาตัวบทอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในบทมีช่วงเปลี่ยนผ่านของเวลาอยู่เพียงจุดเดียว เป็นผลให้ตัดสินใจว่า “งั้นเล่นทั้งตึกเลยแล้วกัน!” จึงเริ่มตีโจทย์การใช้พื้นที่ใหม่จากตรงนี้ โดยดึงจุดเด่นของพื้นที่แต่ละชั้นเข้ามาประกอบกับ Mood & Tone ของเนื้อเรื่องในแต่ละองก์ …แนวคิดใหม่ที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ ยิ่งผู้ชมและตัวละครขึ้นชั้นบนของบ้านมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงระดับเรื่องส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานท้าทายมากขึ้นเพราะต้องเซ็ตพื้นที่แสดงและที่นั่งคนดูเป็น 2 เท่า ใน 15 นาทีแรกของการแสดงจะมี ความสบายๆ เป็นกันเอง เป็นการปูเรื่องเบื้องต้น ตัวละครยังไม่เจอกับ conflict หลักของเรื่อง ซึ่งเข้ากับพื้นที่ในชั้น 1 ที่เปิดโล่ง สบายๆ จึงปรับให้มีความเป็นห้องรับแขก ที่ผู้ชมมาถึงบ้าน รอการแสดงเริ่มต้นและทำความรู้จักกับตัวละครเบื้องต้นที่นี่ เราเลือกใช้เก้าอี้กระดาษจาก SCG เป็นเสมือนที่นั่งของคนดู เพื่อไม่อยากให้รู้สึกจริงจัง คนดูจะขยับเก้าอี้ยังไงก็ได้ ยืนดูก็ได้ สบายๆ รวมทั้งให้เซนส์ของกล่องลังสินค้าที่ชุมชนจีนแถวนี้ มักจะเก็บ stock สินค้าตั้งเรียงไว้ด้านล่างของบ้าน มีการเปิดรับกับ ambience ในชุมชน ซึ่งเสริมกับตัวบทที่มีการพูดถึงตัวละครนอกบ้าน เมื่อถึงจุด conflict หลัก จะมีซีนtitle sequence เพื่อทำภาพเสมือนว่า ละครได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และส่งต่อให้ตัวละคร (ชุน) เดินขึ้นบันไดด้านบน พร้อมการขึ้นข้อความว่า “Please go to 2nd floor. (This is not an intermission.)” เพื่อสื่อให้คนดูรู้สึกว่า เรื่องราวจะเริ่มต้นจริงๆหลังจากนี้ เราจะพาทุกท่านเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวของสมาชิกในบ้านหลังนี้แล้ว

หนึ่งชั่วโมงต่อมาของการแสดง มีเนื้อหาที่จริงจังขึ้น เป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น การแสดงจะปรับจากโทนความสบายๆเน้นพลังและจังหวะเพื่อดึงคนดูจาก ambience มาสู่ระดับที่เล่น realistic ได้มากขึ้น จึงเลือกสร้าง ห้องในชั้นสองเป็นโต๊ะอาหาร เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว บทสนทนาบทโต๊ะอาหาร มักเป็นเรื่องที่จริงจัง เปิดใจ และการประกาศอะไรบางอย่างออกมาให้สมาชิกทุกคนรับรู้ ซึ่งเป็นทิศทางของเรื่องในองก์ที่สอง การจัดที่นั่งคนดูเลือกจัดเป็นตัว U ด้วยเก้าอี้ที่ดูจริงจังขึ้น เพื่อให้ภาพที่คนดูเห็นตัวละครเสมือนกับคนจริงๆนั่งคุยกันอยู่ ในส่วนบันไดขึ้นชั้นสาม ปรับให้เป็นบันไดสู่ความลับที่สูงไปอีกขั้นคือห้องทำงานและห้องนอน เพื่อสอดคล้องกับประเด็นความลับของครอบครัวที่เกิดขึ้นในเรื่อง นักแสดงมีการเล่นกับพื้นที่ในการลงชั้น 1 และขึ้นชั้น 3 ไปทำภารกิจต่างๆ เพื่อใช้เดินเรื่องต่อ และเพื่อสร้างความรู้สึกของการมีชีวิตจริงๆอยู่ของบ้านหลังนี้ อีกหนึ่งความท้าทายคือเวลาในการเข้าพื้นที่แสดงจริงเพราะที่นี่มีกิจกรรมอยู่ตลอดทุกสัปดาห์ พวกเราจึงมีเวลาเข้าพื้นที่เพียง 2 วัน ก่อนเริ่มแสดงรอบ preview ให้ผู้ชมครั้งแรก ต้องทำการบ้านกันล่วงหน้า ทั้งในแง่การออกแบบ Setting หลักให้จัดเสร็จได้ภายในวันเดียว เพื่อให้นักแสดงซ้อมภายในคืนวันเดียวกัน หรือการเตรียมตัวนักแสดงให้พร้อมกับการปรับตัวเข้าพื้นที่อย่างรวดเร็ว โดยสรุปแล้ว แนวคิดหลักในการจัดการพื้นที่ที่ไม่ใช่โรงละคร กับละครเวที CHENG-MENG เป็นเหมือนความสนุกในการเลือกดึงเสน่ห์ของพื้นที่ให้ส่งเสริมไปกับเรื่องราวและการแสดง เพื่อทำให้บ้านหลังนี้ดูมีชีวิตจริงๆ (ดูรูปบรรยากาศการแสดงละคร CHENG-MENG เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/atheatreunit ครับ) ประวัติผู้เขียน อธิศ ธ. อาสนจินดา (ออม) ผู้กำกับละครเวที CHENG-MENG สมาชิกหลักและโปรดิวเซอร์ประจำกลุ่ม A Theatre Unit จบปริญญาโทด้านการตลาด (นานาชาติ) ม.ธรรมศาสตร์ เริ่มเรียนรู้กระบวนการละครมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรีกับเครือข่ายหน้ากากเปลือย twitter: @aomtimator (www.twitter.com/aomtimator)

155 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page