top of page

จบแล้วจะทำงานอะไร?

  • Writer: Ladda Kongdach
    Ladda Kongdach
  • Oct 14, 2019
  • 1 min read

หลายคนเจอคำถามนี้ในช่วงใกล้จะเรียนจบ แต่สำหรับนักเรียนละคร เราเจอคำถามนี้ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เข้าเรียนเลยด้วยซ้ำ และผมก็ตอบคำเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เสมอ ทำละครเวทีครับ

ผมตอบแบบนี้เสมอมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่เอกศิลปะการแสดง สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบมา 5 ปีกว่า ผมดีใจที่ยังพูดคำนี้อยู่ ครั้งแรกที่ตอบแบบนี้ย้อนไปตอนเป็นนักศึกษาปีที่ 2 ที่ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าเราจะยึดวิชาที่ร่ำเรียนเป็นอาชีพต่อไปในอนาคต จึงมุ่งมั่นแสดงละครเวทีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จุดเริ่มต้นการเป็นนักแสดงจริงๆ น่าจะตั้งแต่ผมเรียนอยู่ปี 3 ที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงกับศิลปินมืออาชีพนอกมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกอย่าง “พระคเณศร์เสียงา” โดย Pichet Klunchun Dance Company และเป็นนักแสดงให้ละครคณะประจำปี 2556 ที่ออกสู่สายตาวงกว้างอย่าง Physical Theatre เรื่อง “ไต้ฝุ่น: The Remains” กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ B-Floor) ตอนผมอยู่ปี 4 ในอีกหนึ่งปีให้หลังก็มีโอกาสเอาผลงานของตัวเองออกสู่สายตาสาธารณะใน Take-Off Festival เรื่อง Covertal (โคเวอทาล)



กวิน ในการแสดงเรื่อง “ไต้ฝุ่น: The Remains” (2556) รูปภาพโดย ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี



กวิน ในการแสดงเรื่อง

“Covertal” (2557)

รูปภาพโดย พลัฏฐ์ สังขกร


" ก้าวแรกที่จบออกไป เราต้องเป็นนักแสดง Professional "


อาจารย์วัสสาวดี วัฒนสุวรรณ ครูผู้สอนผมเคยบอกเอาไว้ตอนผมอยู่ปี 2 และผมยึดคำนี้เป็นพลังตลอดเวลาที่ผมเรียน และจบออกมาด้วยไฟการทำละครที่แรงแบบลุกท่วมตัว


เรื่องแรกที่ได้เล่นหลังเรียนจบเป็นละครโรงเล็กครั้งแรกของผม เรื่อง Compassion ผมระเบิดไฟนั้นเต็มห้องซ้อม จน Robin Schroeter ผู้กำกับของผมตอนนั้นต้องบอกผมว่า “เล่นให้แรงมันพอดีห้องหน่อย” เป็นเหมือนระฆังที่ดังในใจว่าให้ใจเย็นๆ ไฟที่ลุกท่วมทำให้ลืมบทเรียนพื้นฐานนี้ไปได้อย่างไร “เล่นให้มันพอดีพื้นที่” ก็เลยปรับไฟของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางแล้วค่อยๆ หายใจ


สิ่งที่ท้าทายในการเป็นนักละครหน้าใหม่ แน่นอนคือพี่ๆ ทุกคนเก่งมาก (มากแบบน้ำตาไหล) และมีเอกลักษณ์สูง นอกจากเทคนิคการแสดงแล้ว ผมรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ควรพัฒนาและคำนึงถึงคือ “เอกลักษณ์” นอกจากเล่นให้ดี การเป็นที่จดจำเป็นสิ่งที่ดี เมื่อทำไปได้สักพักผมก็กลั่นประโยคใหม่ส่วนตัวไว้เป็นพลัง ทำยังไงก็ได้ ให้มีแค่กวินเท่านั้นที่เล่นแบบนี้ได้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำได้ตามที่คิดไหม) หลังจากทำละครอย่างเดียวได้ 1 ปี พ่อกับแม่เริ่มถามว่า เอาเงินจากไหนใช้? ถ้าทำแบบนี้ไปตลอดแล้วจะอยู่ยังไงลูก? บวกกับผมเริ่มประสบปัญหาเงินหมด จึงต้องหา Second Job เพื่อประทังความเป็นอยู่ เลยตัดสินใจพัฒนาความสามารถอื่นที่พอจะเคยทำบ้างสมัยเรียนอย่าง “การตัดต่อวีดิโอ” ให้เก่งขึ้นจนมันทำเงินได้ และทำมันจนถึงปัจจุบัน งั้นอาชีพตอนก็เป็นช่างตัดต่อวีดิโอสิ ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นแบบนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ แต่ผมไม่เคยมองแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผมใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่และมี Passion กับมันเสมอคือการกำกับและแสดงละครเวที สำหรับผมอาชีพคือสิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากกว่าและเห็นภาพตัวเองชัดเจนว่าจะทำมันไปตลอดชีวิต การมี Second Job ไม่ทำให้เวลาการทำละครเวทีของผมลดลงเลยเพราะผมไม่ยอม เลยดันไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนและเวลาที่อยู่กับครอบครัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องแลก

กวิน ในการแสดงเรื่อง Lang-Kao การแสดงที่ร่วมมือกันระหว่าง

ศิลปินไทยและญี่ปุ่น จัดแสดงที่จังหวัด Saitama

รูปภาพโดย: Kirari Fujimi Cultural Centre


ปัจจุบันเพื่อนที่เรียนละครมาด้วยกันแยกย้ายกันไปทำอาชีพต่างๆ มีเพียง 4 คนจาก 27 คนที่ยังทำอยู่ และเป็นแบบนี้ในทุกๆ รุ่น เวลาคือสิ่งที่จะตอบเราว่าเราเหมาะสมกับอะไร จบการละครไม่จำเป็นต้องทำละคร


เพื่อนเขียนบทมือฉมังของผมและอีกหลายคน เป็นแอร์โฮสเตส เพื่อนผู้กำกับของผมดูแลธุรกิจที่บ้าน เพื่อนนักแสดงที่น่าจับตามองสมัยเรียนของผม ทำงานในบริษัทธุรกิจที่ใหญ่โต ทุกวันนี้มีเพื่อนแค่ไม่กี่คนที่ยังแวะเวียนมาดูการแสดงของผม แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะละครไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขา ผมไม่เรียกร้องให้เพื่อนมาดูงานของผม ถึงแม้จะเป็นงานที่ทำขึ้นมาอย่างยากลำบากและสร้างความภาคภูมิใจให้กับผมมากแค่ไหนก็ตาม เพราะในขณะเดียวกันที่เพื่อนเราทำงานเป็นแอร์โฮสเตส เราก็ไม่สามารถไปที่สนามบินเพื่อให้กำลังใจเขาได้เช่นกัน ทุกคนใช้ความรู้ด้านละครที่เรียนมาเพื่อทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ศิลปินการละครก็เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง แค่แวะเวียนกันมาดูตามที่ใจตนเองอยากมา แค่นั้นก็ชื่นใจแล้ว


พอเอาเรื่องนี้มาคิดต่อ มันยากมากที่จะตอบว่าแล้วทำยังไงศิลปะการแสดงถึงจะตอบโจทย์ต่อสังคมไทย พวกเราพยายามช่วยทำทีละนิดๆ ตามความสามารถที่วงการละครไทยจะทำได้ ผมว่าถ้าเราแทรกซึมเข้าไปในระดับมัธยมได้อีก (ซึ่งตอนนี้มีแล้ว และส่วนหนึ่งก็พยายามอย่างเต็มที่) นอกจากสอนการสร้างศิลปะแล้ว ถ้ากระทรวงศึกษาธิการสอนการดูศิลปะด้วย อาจทำให้ผู้คนในสังคมเห็นความสำคัญของมันมากกว่านี้มาก ซึ่งมันสำคัญนะ ถ้าจะให้บอกว่าสำคัญอย่างไรก็เขียนกันอีกยาว






ผู้เขียน : กวิน พิชิตกุล ศิลปินละครเวทีจากกลุ่ม Dee-ng Theatre ที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานทั้งในและต่างประเทศ







กวินเป็นหนึ่งในศิลปินไทยในโครงการ Kirari Fujimi x Southeast Asia vol.1 โดย Kirari Fujimi Foundation ในผลงาน "หลังเขา" (Collaboration Performance) ในปี 2018 กวินสนใจและมีทักษะการแสดงในหลายรูปแบบ ทั้งละครพูด, Physical Theatre, Devising Performance, Puppet และ Butoh

 
 
 

Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
  • Facebook
  • Instagram
bottom of page